ความลับที่ไม่ลับของ “ไส้ดินสอ”

ความลับที่ไม่ลับของ “ไส้ดินสอ”

Interesting Reads | 23 Jun 2023

655 Views

ขึ้นชื่อว่า "ดินสอ" อุปกรณ์วาดเขียนแสนจะธรรมดา ที่ครั้งหนึ่งเราเคยใช้ฝึกคัดลายมือ ทำการบ้าน วาดรูป และเขียนได้อย่างอิสระ ที่ใคร ๆ ก็ใช้งานกันได้ง่าย ๆ เพราะด้วยความสะดวก หยิบจับกระชับมือ เขียนผิดแล้วก็ใช้ยางลบลบได้ แต่ว่าทุกคนสงสัยกันหรือไม่ว่า ส่วนสีดำที่เป็นไส้ดินสอนั้นทำมาจากอะไร และดินสอดำทั่วไปกับดินสอสีนั้นแตกต่างกันหรือไม่ บทความนี้จะพาคุณไปหาคำตอบเรื่องไส้ดินสอกัน

ต้นกำเนิด

ไส้ดินสอมีจุดกำเนิดเมื่อปี ค.ศ. 1564 มีการค้นพบแร่แกรไฟต์บริสุทธิ์จำนวนมาก ณ บอร์โรว์เดล ประเทศอังกฤษ แร่นี้ได้รับการทดสอบแล้วว่ามีความเปราะบางและแตกหักง่าย จึงจำเป็นต้องมีตัวกลางในการใช้งาน ในตอนแรกแท่งแกรไฟต์ถูกพันด้วยเชือก และในเวลาต่อมาก็ได้มีการนำแท่งแกรไฟต์ใส่ลงในแท่งไม้ที่กลวง ดินสอไม้จึงได้ถือกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


แกรไฟต์ ภาพโดย dmr

 

แกรไฟต์ในไส้ดินสอ

แกรไฟต์เป็นธาตุคาร์บอนรูปแบบหนึ่ง จัดเป็นแร่เนื้ออ่อนที่มีโครงสร้างเป็นเกล็ดบางเป็นชั้น ๆ เกาะกันอย่างไม่แข็งแรง และสามารถหลุดออกได้ง่าย

แบบจำลองโครงสร้างของแกรไฟต์ ภาพโดย chemju

 

การทำให้แกรไฟต์เกิดรอยสีดำบนกระดาษหรือพื้นผิววัสดุได้นั้น เกิดจากเมื่อเรากดแท่งแกรไฟต์ลงบนพื้นผิววัสดุ แกรไฟต์ชั้นบาง ๆ จะหลุดร่อนและลอกไปติดบนพื้นผิววัสดุทำให้เกิดรอยสีดำขึ้น


วิธีการทำไส้ดินสอ

อันดับแรกนำผงแกรไฟต์มาบดให้ละเอียด ผสมกับดินขาวชนิดเนื้อละเอียดที่ใช้ทำถ้วยชามหรือกระเบื้อง ปั้นให้เป็นแท่งยาว แล้วนำไปเผาที่อุณหภูมิประมาณ 1,200 องศาเซลเซียส จากนั้นเคลือบด้วยขี้ผึ้ง (ทำให้เขียนลื่นขึ้น) ขั้นตอนต่อไปคือประกอบเป็นแท่งดินสอ โดยใช้กาวผนึกให้ติดแน่นกับปลอกไม้ที่ใช้หุ้ม โดยไม้ที่นำมาใช้ต้องเป็นไม้เนื้ออ่อนพอสมควร เพื่อให้ง่ายต่อการเหลา เช่น ไม้ซีดาห์ เป็นต้น

ความเข้มของไส้ดินสอ

ระดับความเข้มของไส้ดินสอนั้น กำหนดได้จากปริมาณอัตราส่วนในการใส่ดินขาวลงไปผสมกับแกรไฟต์ ยิ่งปริมาณอัตราส่วนดินขาวมาก ความเข้มของไส้ดินสอก็จะยิ่งน้อยลง โดยใช้ตัวอักษร H และ B ในการแยกประเภทความเข้มของไส้ดินสอนั้น ๆ

  • H ย่อมาจาก Hard (แข็ง) ยิ่งไส้ดินสอแข็งมาก แสดงว่ามีอัตราส่วนดินขาวมาก เส้นที่ได้จะมีสีอ่อนและจาง แต่มีความคมของเส้นมากกว่า
  • B ย่อมาจาก Black (สีดำ) ยิ่งไส้ดินสออ่อนมาก แสดงว่ามีอัตราส่วนแกรไฟต์มาก เส้นที่ได้จะมีสีเข้มและเรียบเนียนกว่า

ไส้ดินสอมีตั้งแต่ระดับที่แข็งและสีอ่อน ไปจนถึงระดับที่อ่อนและสีเข้ม โดยเรียงตามลำดับได้ดังต่อไปนี้

ภาพโดย teen.mthai


ในปัจจุบันได้มียกเลิกการใช้สัญลักษณ์ EB และ EE แล้ว และแทนที่ด้วย 7B และ 8B โดย EE ย่อมาจาก Extra Extra แต่ก็ยังมีสัญลักษณ์ EE ใช้อยู่ในผลิตภัณฑ์ชื่อ STAEDTLER Mars Lumograph ของ STAEDTLER ในประเทศไทย

ไส้ดินสอสีต่างกับไส้ดินสออย่างไร

ไส้ดินสอสีมีขี้ผึ้งหรือน้ำมันเป็นพื้นฐาน แล้วผสมสารสี สารเติมแต่ง และสารยึด (binder) ในปริมาณอัตราส่วนที่แตกต่างกันไป จึงแตกต่างกับไส้ดินสอปกติที่มีแกรไฟต์เป็นพื้นฐานแล้วผสมกับดินขาว


ก็จบลงไปแล้วสำหรับเรื่องราวของไส้ดินสอที่เราพบเห็นได้ตามร้านขายเครื่องเขียนทั่วไป ซึ่งไส้ดินสอตามท้องตลาดในปัจจุบันนี้ก็มีความเข้มหลากหลายระดับให้เราเลือกใช้ให้เหมาะกับงานนั้น ๆ อย่างเช่น ดินสอสำหรับระบายกระดาษข้อสอบ (กระดาษคอมพิวเตอร์) ก็ต้องใช้ความเข้มระดับ 2B ขึ้นไป ถ้าใช้ระดับความเข้มต่ำกว่านี้แล้วคอมพิวเตอร์ไม่ตรวจกระดาษข้อสอบ ก็เตรียมตัวสู่ขิตในวันที่ดือรอกันไว้ได้เลย

Our Products

Related Posts

Messenger Line