เมื่อหนังสือคือสมุดจริงเหรอ ?

เมื่อหนังสือคือสมุดจริงเหรอ ?

Interesting Reads | 23 Nov 2019

3,929 Views

หลายต่อหลายครั้งที่นึกครึ้มอยากจะหยิบนวนิยายเล่มโปรดกลับมาอ่านซ้ำ หรือพลิกหนังสือแต่งบ้านสวยๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจเปลี่ยนสไตล์ หรือค้นตำราอาหารแปลกใหม่ไว้ลองทำทานกับครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ ง่ายที่สุด…เราก็แค่ google จากสมาร์ทโฟนและหาอ่านจากออนไลน์ แต่เราหลงลืมไปว่าจะสูญเสียสัมผัสที่ได้จับเนื้อกระดาษและสูดกลิ่นหมึกพิมพ์ พร้อมนึกย้อนไปถึงความทรงจำของการค่อยๆ เปิดอ่านหนังสือทีละหน้าอย่างบรรจง

เพื่อให้กลับมามีโอกาสรำลึกถึงความหลัง จึงเดินทางไปยังหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี และพบกับโฉมใหม่ที่ปรับปรุงอย่างทันสมัยและเป็นกันเอง ขณะเรากำลังไล่เรียงหาหนังสือตามลิสต์ ก็นึกเอะใจว่าทำไมจึงเรียกสถานที่เก็บหนังสือมากมายเหล่านี้ว่า “หอสมุด” ไม่ใช่ “หอหนังสือ” อย่างที่ควรจะเป็น

นั่นสิ…แล้วทำไมห้องสมุดจึงไม่ใช่ห้องเก็บสมุด แต่เป็นสถานที่สะสมหนังสือ และคนไทยเริ่มใช้คำว่าสมุดแตกต่างจากหนังสือตั้งแต่เมื่อไร แล้วทำไมจึงมีคำว่าหนังสือแยกออกมาจากคำว่าสมุด ความสงสัยต่างๆ เหล่านี้ได้แปรเปลี่ยนความตั้งใจเดิม เป็นการค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับ “สมุด” และ “หนังสือ” ซึ่งเราจะมาไขข้อข้องใจกัน

กว่าจะมาเป็นสมุด

สมุดข่อย


ก่อนอื่นนั้น เราค้นหาที่มาของสมุดที่ใช้สำหรับจดบันทึกในปัจจุบัน ซึ่งตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ระบุความไว้ดังนี้

สมุด น. กระดาษที่ทำเป็นเล่ม มีหลายชนิดเรียกชื่อตามประโยชน์ใช้สอย เช่น สมุดวาดเขียน สมุดแผนที่ สมุดแบบฝึกหัดคัดลายมือ (อ้างอิง: พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)

เมื่อพิจารณาจากคำแปลข้างต้น ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ชุดความคิดเกี่ยวกับ “สมุดแบบปัจจุบัน” แตกต่างจากสมุดสมัยโบราณ ตามที่เคยเอ่ยถึงคือ สมุดไทย (สมุดข่อย) อันหมายถึงกระดาษสำหรับจดข้อความพับทบกลับไปกลับมา แต่ไม่ได้เย็บเป็นเล่ม ซึ่งอธิบายความว่า


สมุดไทย


สมุดไทย น. สมุดที่ทำด้วยกระดาษข่อยแผ่นยาว ๆ หน้าแคบ พับทางขวางทบกลับไปกลับมาคล้ายผ้าจีบ เป็นสมุดเล่มสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทั้งชนิดกระดาษขาวและกระดาษดำ, สมุดข่อย ก็เรียก. (อ้างอิง: พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)


ขึ้นต้นเป็นสมุด ลงท้ายเป็นหนังสือ

ข้อสันนิษฐานการจำแนกชื่อเรียก “สมุดไทย” ออกจาก “สมุดแบบปัจจุบัน” โดยแบ่งแยกสมุดหมายถึงกระดาษที่เย็บเล่มสำหรับจดบันทึก ซึ่งแทนที่การจดจารด้วยสมุดไทย เป็นเพราะการเข้ามาของสมุดกระดาษแบบฝรั่ง พร้อมกับผลพวงจากการรุกคืบของการพิมพ์ ซึ่งใช้กระดาษที่พิมพ์ข้อความ ทำเป็นหนังสือ

แม้ว่ามีการหลักฐานเกี่ยวกับการพิมพ์ตัวอักษรมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ความมีตัวตนของหนังสือ เริ่มปรากฏขึ้นในช่วงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) จากหมอบลัดเลย์ที่เดินทางมาเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสยามประเทศ และได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการพิมพ์เอกสารต่างๆ

หมอบลัดเลย์ (Dan Beach Bradley, M.D.) ใช้ตัวอักษรภาษาไทยที่หาซื้อได้จากสิงคโปร์ พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นและห้ามค้าฝิ่น เป็นภาษาไทยในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2382 จำนวน 9,000 แผ่น ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารราชการไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2385 หมอบลัดเลย์ได้หล่อชุดพิมพ์ขึ้นมาใหม่ นำมาจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายเดือนภาษาไทยฉบับแรกขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่าชื่อว่า หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอเดอ(Bangkok Recorder) ออกวางจำหน่าย ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่มีขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหลังจากนั้น ยังมีการพิมพ์หนังสือและตำราเรียนภาษาไทยอีกหลากหลายประเภท เช่น ประถม ก กา จินดามณี หนังสือกฎหมาย วรรณคดีต่างๆ เช่น ราชาธิราช สามก๊ก เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น เป็นต้น และในช่วงนี้เองที่ทำให้มีการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเพื่อมาจัดพิมพ์วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อหมอบลัดเลย์ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือ นิราศลอนดอน ที่เขียนโดยหม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) เป็นเงิน 400 บาท ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2404 ทำให้หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นหนังสือเล่มแรกของไทยที่มีการซื้อขายลิขสิทธิ์ตามแบบอย่างตะวันตก (อ้างอิง: https://sites.google.com/site/golfsbook/about/history)


หนังสือจดหมายเหตุ บางกอก รีคอร์เดอร์ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2408

คาดการณ์ว่า ความคาบเกี่ยวผสมปนเประหว่างสมุดและหนังสือ ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนกระทั่งความสับสนน่าจะสิ้นสุดลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เพราะการเข้ามาเยือนของสมุดกระดาษแบบฝรั่งที่เย็บเป็นเล่ม ซึ่งบันทึกข้อความได้สะดวกง่ายดายกว่า และได้รับความนิยมแทนที่สมุดไทยแบบเดิม

ความนิยมในการใช้สมุดไทยเขียนหนังสือสิ้นสุดลงเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 6พร้อมกับการเข้ามาของ “สมุดกระดาษฝรั่ง” ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่หนังสือสมุดไทยมีความคงทนถาวร อายุการใช้งานยืนยาวกว่า อีกทั้งยังปลอดภัยจากหนอนแมลงกัดกินทำลายได้มากกว่าด้วย แต่คงเพราะสมุดฝรั่งใช้สะดวกกว่า สมุดฝรั่งจึงครอบครองส่วนแบ่งการตลาดไปแบบเหมาคนเดียว (อ้างอิง: http://119.46.166.126/self_all/selfaccess9/m3/551/lesson_2/book_2.php)

หากทำความเข้าใจตามบริบทของปัจจุบัน เราสามารถตีความได้ว่า “ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ลงมา สมุดไทยในสมัยอยุธยา น่าจะถูกจัดให้เป็นหนังสือในยุคปัจจุบัน ขณะที่สมุดแบบฝรั่ง จึงหมายความถึงสมุดแบบปัจจุบัน”  


สมุดฝรั่ง คือสมุดแบบที่เราใช้ในกันในปัจจุบัน


ห้องสมุดกลายเป็นห้องเก็บหนังสือ 

แล้วไฉนจึงเรียกสถานที่เก็บหนังสือว่าห้องสมุดล่ะ? แน่นอนว่า บันทึกข้อมูลและความรู้ต่างๆ ส่วนใหญ่ได้รับการจดจารลงในสมุดไทยในสมัยอยุธยา โดยเฉพาะที่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในสมัยอยุธยาตอนปลาย และนำมาเก็บสะสมไว้ในหอหลวงหรือหอสมุดหลวง

มีบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมบันทึกต่างๆ มาเก็บไว้ในหอหลวงหรือหอสมุดหลวง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสมุดไทยที่เหลือจากการถูกพม่าเผาและทำลาย เข้ามาไว้ในกรุงธนบุรี ตั้งหอหลวงหรือหอพระสมุดหลวงขึ้นใหม่ตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา

(อ้างอิง: สารานุกรมไทยฉบับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 12)

เพราะฉะนั้น ต้นเค้าของคำว่า “ห้องสมุด” น่าจะมากจากคำว่า หอสมุดหลวง ซึ่งแผลงมาเป็นหอสมุดและห้องสมุดในเวลาต่อมา เป็นเหตุให้เรายังเรียกสถานที่เก็บหนังสือ (ความรู้) ว่า ห้องสมุด มาจนถึงปัจจุบันนี้

คนในสมัยโบราณจดบันทึกเรื่องราวและความรู้ต่างๆ ด้วยมือลงในสมุดไทยแล้วนำมาเก็บรวบรวมไว้เป็นห้องๆ จึงเรียกว่าห้องสมุด เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีกับความทันสมัยเข้ามา วิธีการทำบันทึกก็เปลี่ยนไป มีการนำการพิมพ์เข้ามา ความรู้ทั้งหลายได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือแทนการเขียนลงสมุดไทย แต่ยังคงเรียกว่า “ห้องสมุด” เหมือนเดิม (อ้างอิง: https://km.lib.kmutt.ac.th/index.php/chic-in-library/383-qq)

Our Products

Related Posts

Messenger Line